การสร้างสัมพันธภาพและตกลงบริการเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการให้การปรึกษา มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความคุ้นเคย ความไว้วางใจระหว่างผู้รับการปรึกษากับผู้ให้การปรึกษา เนื่องจากในระยะเริ่มกระบวนการให้การปรึกษา ผู้รับการปรึกษายังมีความไม่แน่ใจ อาจตื่นเต้นหรือลำบากใจที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของตน นอกจากนี้ ในระยะเริ่มต้นของกระบวนการให้การปรึกษา ผู้รับการปรึกษาและผู้ให้การปรึกษายังไม่คุ้นเคยต่อกัน ผู้ให้การปรึกษาจะต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับการปรึกษาโดยอาศัยเทคนิคและทักษะต่างๆ เช่น การทักทายสั้นๆ การพูดเรื่องทั่วไป การใส่ใจหรือแสดงพฤติกรรมการใส่ใจ และการเปิดประเด็นแล้วนำเข้าสู่การตกลงบริการ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษามีความเข้าใจที่ตรงกันในองค์ประกอบต่างๆ ของการให้การปรึกษา ได้แก่ การแนะนำตัว การชี้แจงบทบาทของผู้ให้และผู้รับการปรึกษา การรักษาความลับ ระยะเวลาที่ใช้ในการให้การปรึกษา ประเด็นในการขอรับบริการอันนำไปสู่การไว้วางใจและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับการปรึกษา
ผู้ให้การปรึกษา จะต้องใช้ทักษะต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาเล่าถึงปัญหาต่างๆ เพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้รับการปรึกษาตลอดจนได้เรียนรู้ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง จนได้พบปัญหาและรับรู้ความต้องการหรือท่าทีที่ตนเองมีต่อปัญหา ซึ่งในขั้นการสำรวจปัญหานี้จะใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับพื้นฐานสติปัญญาความสามารถ ลักษณะนิสัยของผู้รับการปรึกษาและความชำนาญในการใช้ทักษะของผู้ให้การปรึกษา
ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดถือเป็นหัวใจของกระบวนการให้การปรึกษา ซึ่งผู้ให้การปรึกษา(อาจารย์ที่ปรึกษา) ต้องใช้ทักษะเพื่อให้ผู้รับการปรึกษา (นักศึกษา)เกิดความกระจ่างชัดในสาเหตุของปัญหา ได้สำรวจความคิดและความรู้สึกที่ตนเองมีต่อประสบการณ์ บุคคล หรือปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถแยกแยะปัญหานำและปัญหาที่แท้จริงได้ สรุปประเด็นปัญหาที่ผู้รับการปรึกษาต้องการแก้ไข ตลอดจนนำปัญหาที่ค้นพบมาจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขและไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ บ่อยครั้งที่ผู้รับการปรึกษาระบุปัญหาในขั้นตกลงบริการอย่างหนึ่ง แต่ในขั้นเข้าใจปัญหาสาเหตุเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ผู้ให้การปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับการปรึกษามองเห็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานั้นตามศักยภาพของผู้รับการปรึกษาโดยใช้ทักษะต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาคิด สำรวจความรู้สึก และความต้องการของตนเอง มองเห็นปัญหา เข้าใจสาเหตุและทราบถึงความต้องการที่ชัดเจนของตนเอง และมีพลังใจหรือเจ็บปวดจากผลของการตัดสินใจของตน
เป็นขั้นตอนที่ผู้ให้การปรึกษาช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนเท่าที่มีอยู่ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย วางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ ศักยภาพและสภาพแวดล้อมของผู้รับการปรึกษามากที่สุด โดยผู้ให้การปรึกษาไม่ควรเร่งรีบและด่วนตัดสินใจจัดการปัญหาของผู้รับการปรึกษา แต่จะคอยให้กำลังใจแก่ผู้รับการปรึกษาได้มีส่วนร่วมในการค้นหาวิธีการพิจารณาความเหมาะสมและเลือกทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาคาดคะเนถึงโอกาสประสบความสำเร็จและความเป็นไปได้ในการใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่เลือก สร้างความตระหนักในการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการเลือกของตนเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ปฏิบัติ ซึ่งในขั้นนี้ผู้ให้การปรึกษาอาจสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษามีกำลังใจ อบอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยว ด้วยวิธีการดังนี้
4.1 การประคับประคอง เป็นการสนับสนุน ให้กำลังใจ ใส่ใจกับความรู้สึกโดยไม่เน้นวิธีการแก้ไขปัญหา แต่ทั้งนี้การให้กำลังใจต้องให้เป็นข้อมูลที่เป็นไปได้จริง และไม่ใช้ข้อมูลหรือการให้กำลังใจที่มุ่งกลบเกลื่อนความรู้สึก
4.2 การให้ข้อมูล ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่แน่ใจว่าผู้รับการปรึกษายังไม่รู้และเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจและการสร้างพฤติกรรมใหม่
4.3 การเสนอวิธีการต่างๆ ในกรณีผู้รับการปรึกษาไม่พร้อมนำศักยภาพมาใช้ในการค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหา ผู้ให้การปรึกษาอาจต้องเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาแบบต่างๆ และกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาได้มีส่วนร่วมในการคิดและเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
4.4 การคาดการณ์ด้วยเหตุผล เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุดในการสำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่อาจเกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ หรือวิธีการแก้ปัญหาแบบต่างๆ หรือการแสดงพฤติกรรมใหม่
การแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตามจะไม่เกิดผลดีตามความคาดหมายหากผู้รับการปรึกษาไม่นำพฤติกรรมใหม่ไปปฏิบัติ ส่วนใหญ่การให้การปรึกษาจะไม่สิ้นสุดตรงที่มีการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา แต่จะต่อเนื่องกันไปจนให้ผู้รับการปรึกษาไปทดลองแก้ปัญหาแล้วกลับมาพูดคุยสนทนากับผู้ให้การปรึกษา เพื่อการปรับวิธีการจนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหานั้นเสร็จสิ้น หรือผู้รับการปรึกษาสามารถปรับตัวใช้ชีวิตในสังคมได้
การให้การปรึกษาอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือหลายๆ ครั้งต่อเนื่องไปจนปัญหาคลี่คลายแล้วแต่กรณี ผู้ให้การปรึกษาควรจะให้สัญญาณแก่ผู้รับการปรึกษาได้รู้ตัวก่อนหมดเวลาของยุติการปรึกษา เช่น มองนาฬิกา หรือพูด “เราเหลือเวลาอีก 2-3 นาที” แล้วเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาได้สรุปในสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการสนทนาในแต่ละครั้ง โดยผู้ให้การปรึกษาสรุปเพิ่มเติมในประเด็นที่ขาดหายไปส่งเสริมให้ผู้รับการปรึกษาได้เห็นคุณค่าของตนเอง มีความรู้สึกด้านบวกต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ในบางครั้งผู้ให้การปรึกษาอาจมอบหมายการบ้านให้ผู้รับการปรึกษากลับไปปฏิบัติ เช่น การเปลี่ยนการสื่อสาร การฝึกการหายใจคลายเครียด ฝึกการใช้จินตนาการบำบัด เป็นต้น
ในกรณีที่ผู้ให้การปรึกษาไม่สามารถช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาได้หรือประเมินว่าผู้รับการปรึกษาควรได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับการปรึกษาเป็นไปในทางลบซึ่งไม่เอื้อต่อการให้การปรึกษา จำเป็นต้องส่งต่อไปให้พบกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้การปรึกษาท่านอื่น ผู้ให้การปรึกษาจะต้องให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับผู้รับการปรึกษาอย่างชัดเจน ผู้รับการปรึกษาสามารถเลือกที่จะให้ส่งต่อหรือไม่ก็ได้ และถ้าไม่มีการส่งต่อผู้รับการปรึกษาสามารถขอพบผู้ให้การปรึกษาได้ต่อไป หากผู้รับการปรึกษายังต้องการขอรับการปรึกษา นอกจากการสรุปประเด็นที่ได้พูดคุยกันก่อนยุติการปรึกษาแล้ว อาจตกลงหัวข้อการให้การปรึกษา วัน เวลา สถานที่ในการขอรับการปรึกษาครั้งต่อไป พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้รับการปรึกษาในการปฏิบัติตามที่เขาได้ตัดสินใจระหว่างรอการนัดพบในครั้งต่อไปแล้วจึงกล่าวอำลา
จะเห็นว่าการให้การปรึกษามีขั้นตอนและต้องใช้หลักวิชาการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ให้การปรึกษาต้องมีความรู้และสามารถในการใช้ทักษะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
นักเรียน : สวัสดีค่ะอาจารย์
อาจารย์ : จ้ะ นั่งก่อนซิ ( ยิ้ม ชี้ที่เก้าอี้ : ทักษะการใส่ใจ)
นักเรียน : อาจารย์ ให้เพื่อนไปตามหนูมามีอะไรหรือ
อาจารย์ : ครูอยากคุยด้วยน่ะ เป็นยังไงบ้างช่วงนี้ สบายดีหรือเปล่า (ทักษะการใส่ใจและการถาม)
นักเรียน : ก็สบายดีค่ะอาจารย์
อาจารย์ : อือ ครูนึกว่าหนูไม่สบายเห็นไม่ค่อยมาโรงเรียน (ทักษะการใส่ใจ)
นักเรียน : เอ่อ.... ที่จริงก็..ไม่ค่อยสบายนัก...
อาจารย์ : ไม่ค่อยสบาย เป็นอะไรเหรอ (ทักษะซ้ำความและการถาม)
นักเรียน : คือ..ก็ไม่ได้ป่วยอะไร.. ตอนนี้..หนู…
อาจารย์ : .............(ทักษะการเงียบ )...
นักเรียน : คือ....หนู…
อาจารย์ : เธออาจจะกำลังลังเลว่าควรเล่าหรือไม่ แล้วแต่เธอนะ แต่ถ้าเธอกลัวเรื่องการรักษาความลับ ครูรับรองว่าจะไม่นำเรื่องของเธอไปเปิดเผยให้ใครฟังอย่างแน่นอน และการได้เล่าเรื่องที่เราไม่สบายใจให้ใครสักคนที่เป็นห่วงและหวังดีต่อเรา มันจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีคนรับฟัง (ทักษะการจัดการ )
นักเรียน : หนู..ก็..มีเรื่องไม่ค่อยสบายใจนิดหน่อยน่ะค่ะ
อาจารย์ : ที่ว่ามีเรื่องไม่ค่อยสบายใจ มีอะไรที่ครูช่วยได้ครูยินดีนะ
(ทักษะการซ้ำความและทักษะการใส่ใจ)
นักเรียน : คือ..ว่าตอนนี้หนู...ไม่ค่อยสบายใจเรื่องทางบ้านค่ะ
อาจารย์ : ไม่สบายใจเรื่องที่บ้าน มีอะไรเหรอ (ทักษะการซ้ำความและทักษะการถาม)
นักเรียน : คือว่า..คุณพ่อของหนูต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัดน่ะคะ หนูเลยต้องอยู่บ้านกับคุณแม่ 2 คน แต่ทีนี้ คุณแม่เป็นคนที่ชอบออกสังคม ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เวลาตอนเย็นหนูกลับบ้านก็ไม่ค่อยได้เจอคุณแม่เลย ข้าวเย็นหนูก็ต้องหากินเองคนเดียว เช้ามาคุณแม่ก็ไปทำงาน
อาจารย์ : แล้วหนูรู้สึกอย่างไร (ทักษะการถาม)
นักเรียน : หนูก็..เหงา เซ็ง เบื่อ ก็เลยออกไปข้างนอกไปอยู่ที่หอเพื่อน จะได้มีเพื่อนคุย มีเพื่อนกินข้าว
อาจารย์ : ที่คุณแม่ไม่ค่อยอยู่บ้าน หนูต้องกินข้าวคนเดียวบ่อยๆ มันทำให้หนูเหงา ก็เลยต้องออกไปหาเพื่อน (ทักษะการสะท้อน)
นักเรียน : ค่ะ
อาจารย์ : ไปอยู่กับเพื่อนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง (ทักษะการถาม)
นักเรียน : ก็ดีค่ะ แต่บางทีหนูก็..เกรงใจเค้า แบบว่าบางทีแฟนเค้าก็มาหา หนูคิดว่าเค้าอาจจะอยากมีความเป็นส่วนตัวบ้าง แล้วเค้าก็ชอบออกไปเที่ยวกลางคืนกับแฟนเค้าด้วย เวลาเค้าไปเค้าก็ชอบชวนหนูไปด้วย หนูก็ไม่อยากไปแต่ไม่รู้ว่าจะปฏิเสธเค้ายังไง จะอยู่คนเดียวก็เหงาก็เลย..ไปก็ไป พอตอนเช้าหนูก็ตื่นมาโรงเรียนไม่ไหว... แล้วเค้าก็ยังแนะนำเพื่อนของแฟนให้รู้จักกับหนู เค้าบอกหนูว่า...ให้หนูรีบมีแฟนจะได้ไม่ต้องเหงาอยู่คนเดียว
อาจารย์ : แล้วหนูมีคิดยังไงกับคำแนะนำของเขาจ๊ะ (ทักษะการถาม)
นักเรียน : ก็ดีนะคะอาจารย์ หนูเห็นเวลาเค้าอยู่ด้วยกันเค้าก็มีความสุขดี แต่อีกใจหนึ่งหนูก็ว่าไม่ค่อยดี.. เวลาเค้าทะเลาะกัน..น่ากลัว แบบว่า..เค้าโดนแฟนตีด้วยนะค่ะอาจารย์ แล้วเพื่อนเค้าแต่ละคนที่แนะนำให้หนูรู้จักเนี่ย น่ากลัวกว่าแฟนเพื่อนหนูอีก หนูไม่แน่ใจว่าจะมีแฟนดีไหม
อาจารย์ : จากที่หนูเล่ามาทั้งหมด หนูคิดว่าถ้าหนูใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปจะเป็นยังไงจ๊ะ
( ทักษะชี้ผลที่ตามมา)
นักเรียน : ก็……………………
อาจารย์ : ………….. (ทักษะการเงียบ)
นักเรียน : ก็คง…คงจะ…จะติดกลุ่มเที่ยว กินเหล้า สูบบุหรี่ ความจริงแล้วเพื่อนหนู...แต่ก่อนเค้าก็ไม่ได้เป็นแบบนี้หรอกค่ะ เค้าพึ่งมาเป็นตอนคบกับแฟนคนนี้แหล่ะ
อาจารย์ : นั่นซิ ถ้าหนูยังไปหาเพื่อนคนนี้ ไปเที่ยวตอนกลางคืนแล้วก็อยู่ในกลุ่มนี้บ่อยๆ..
(ทักษะการซ้ำความ )
นักเรียน: หนู...คง...แย่... เพราะตั้งแต่หนูไปเที่ยวกับพวกเค้า โรงเรียน..ก็ไม่ค่อยได้มา การบ้าน.. งาน..ค้างเยอะไปหมด คะแนนของหนูก็แย่ลงแทบจะทุกวิชา
อาจารย์ : ครูดีใจนะที่หนูคิดได้แบบนี้ แล้วหนูคิดว่าหนูจะทำอย่างไรต่อไป
(ทักษะการให้กำลังใจและการถาม)
นักเรียน : ก็คงจะเหงา..แล้วก็เหงามาก...
อาจารย์ : นั่นสิ อยู่บ้านก็เหงา ไปหาเพื่อนก็ดูจะอันตราย แล้วหนูคิดว่าจะทำอย่างไร (ทักษะการสรุปความและการถาม)
นักเรียน : ก็คงดูทีวี ฟังเพลง ไปตามภาษา เรื่อยเปื่อย
อาจารย์ : ดูทีวี ฟังเพลง แล้วหนูคิดว่าจะหายเหงาไหม (ทักษะการทวนซ้ำและการถาม)
นักเรียน : มันก็...ไม่หายเหงาหรอกค่ะอาจารย์ ที่หนูไปเที่ยวผับกับเพื่อนๆ ความจริง ก็ดี หายเหงา เพื่อนเยอะดี อยู่บ้านแล้ว เซ็ง ไปค้างหอเพื่อนบ้างก็ดี
อาจารย์ : ไปเที่ยวผับ แล้วก็ไปค้างหอเพื่อนต่อ ถ้าพ่อแม่กลับมา..แล้วรู้ว่าหนูไม่อยู่บ้าน...หนูคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ทักษะการซ้ำความและการชี้ผลที่ตามมา )
นักเรียน : ……….(เงียบ)… พ่อกับแม่คงโมโหมาก เพราะเคยบอกว่าอย่าไปไหนตอนกลางคืน ไม่ให้ไปค้างบ้านคนอื่น….หากไม่ได้ขออนุญาต อ่า…ทำไงดีคะ
อาจารย์ : นั่นซิ ทำไงดี (ทักษะการถาม)
นักเรียน : ช่างเหอะ.. จะได้รู้มั่งว่า คนเราก็เหงา ก็กลัวเป็นเหมือนกันที่ต้องอยู่คนเดียว
อาจารย์ : ฟังดูเหมือนกับว่า... ที่หนูไปเที่ยวกับเพื่อนดึกๆดื่นๆเนี๊ยะนอกจากจะเหงาแล้วหนูยังกลัวที่ต้องอยู่คนเดียวตอนกลางคืน แล้วก็จะประชดคุณแม่ด้วย...
( ทักษะการตีความ)
นักเรียน : ..........(เงียบ ก้มหน้า น้ำตาไหล)
อาจารย์ : …….. (ส่งกระดาษซับน้ำตาให้)......(ทักษะการเงียบและการใส่ใจ )
นักเรียน : หนูเหงา....(สะอื้น) หนูอยากให้... แม่มีเวลาให้หนูบ้าง...
อาจารย์ : …….. ( ส่งกระดาษซับน้ำตาให้.).....(ทักษะการเงียบและการใส่ใจ ).........
หนูเคยบอกหรือทำอะไรให้คุณแม่รู้ไหมคะว่า... หนูเหงาแล้วก็อยากให้เขาอยู่กินข้าวด้วยในตอนเย็น (ทักษะการถาม)
นักเรียน : ....ไม่ค่ะ
อาจารย์ : ที่ไม่บอกเนี๊ยะ เพราะอะไรเหรอ ( ทักษะการซ้ำความและการถาม)
นักเรียน : ทำไมต้องให้บอกด้วย แม่ก็ต้องรู้ซิว่า ลูกที่ไหนๆเขาก็อยากให้แม่อยู่ด้วยทั้งนั้นแหละ.... อาจารย์ : เป็นไปได้ไหมที่คุณแม่จะคิดว่าหนูอยู่เองคนเดียวได้ เขาจึงออกงานสังคมบ่อยๆ แล้วอีกอย่าง...ตัวหนูเองก็ไม่เคย บอกหรือทำให้เขารู้ว่าอยากให้เขาอยู่ด้วย
(ทักษะการกระจ่างความ )
นักเรียน : หนู..ไม่รู้...
อาจารย์ : แล้วหนูคิดยังไง ถ้าจะบอกให้คุณแม่รู้ว่า...อยากให้เขาบ้าน...อยู่กินข้าวด้วย (ทักษะการถาม)
นักเรียน : ไม่รู้ซิ..แต่ก็...น่าจะ...ดีเหมือนกัน
อาจารย์ : ถ้าดี.....หนูจะลองบอกคุณแม่ดูไหม แล้วถ้าจะบอกหนูอยากจะบอกคุณแม่ว่ายังไงดีละ
(ทักษะการซ้ำความและการถาม)
นักเรียน : ก็…บอกว่า .. หนูอยากให้คุณแม่ออกงานตอนเย็นน้อยลง อยู่บ้านกินข้าวเย็นกับหนูบ้าง แค่อาทิตย์ละ 2-3 วันก็พอแล้ว
อาจารย์ : ดีค่ะ..(ยิ้ม ผงกศีรษะ ).. แล้วความรู้สึกของหนูที่ต้องอยู่บ้านคนเดียวล่ะ จะบอกไหม (ทักษะการให้กำลังใจและการถาม )
นักเรียน : บอกดีไหมคะ.. บอกดีกว่า..หนูจะบอกว่า...หนูเหงาแล้วก็กลัวด้วยที่ต้องอยู่คนเดียว
อาจารย์ : อือ... ถ้าหนูพูดแบบนี้กับคุณแม่ หนูคิดว่าคุณแม่จะว่ายังไง (ทักษะการถาม)
นักเรียน : คุณแม่ก็คง…จะอยู่บ้านกับหนูมากขึ้น เพราะหนูก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย
อาจารย์ : อื่ม…ครูก็คิดอย่างนั้นแหละ แล้วตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง
(ทักษะการให้กำลังใจและการถาม)
นักเรียน : ก็ดีค่ะ โล่งๆดี ขอบคุณมากนะคะอาจารย์
อาจารย์ : ครูว่าถ้าหนูทำตามอย่างที่หนูคิด ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แล้วจะพูดกับคุณแม่วันไหนดีล่ะ (ทักษะการให้กำลังใจและการ ถาม)
นักเรียน : เย็นนี้เลยค่ะอาจารย์ คุณแม่กลับดึกยังไงหนูก็จะรอ
อาจารย์ : ดีแล้วค่ะ รีรอไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ได้ผลเป็นยังไงก็มาเล่าให้ครูฟังนะ
( ทักษะการให้กำลังใจและการใส่ใจ)
นักเรียน : ค่ะ... อาจารย์ ขอบคุณมากนะคะ สวัสดีค่ะ
อาจารย์ : ไม่เป็นไรจ้ะ ครูยินดี
แหล่งที่มา : มัลลวีร์ อดุลวัฒนศิริ.2554. เทคนิคการให้คำปรึกษา